จัดพื้นที่เล้าไก่อย่างไร ให้ไก่ออกไข่เยอะ

ก่อนเลี้ยงไก่ ลองมาทำความรู้จักกับธรรมชาติของไก่กันก่อนค่ะ เพราะไก่เป็นสัตว์นักสำรวจที่อาจเดินคุ้ยเขี่ยอาหารจนทำให้สนามหญ้า แปลงผัก หรือแปลงดอกไม้ที่เราต้องการให้มีความสวยงาม กลับพังได้ง่ายในเวลาอันรวดเร็ว หรือเกิดมีหลุมดินที่ไม่พึงประสงค์ เราจะจัดการพื้นที่สำหรับเลี้ยงไก่อย่างไร มาดูกันเลยจ้า…

สำหรับบ้านที่มี สนามหญ้า แปลงผักสวนครัว หรือแปลงดอกไม้ที่ต้องการความสวยงาม เราอาจต้องทำรั้วล้อมตาข่ายที่จำกัดพื้นที่การหาอาหารและการสำรวจของไก่ให้อยู่อย่างเป็นที่เป็นทาง จะมีพื้นที่มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่บ้าน นอกจากไม่ให้ไก่เข้าไปทำลายสวนแล้ว ยังช่วยให้ไก่ปลอดภัยจากสิ่งแวดล้อมและสัตว์เลี้ยงรอบๆ อีกด้วย โดยภายในพื้นที่เล้าไก่ อาจปูพื้นทางเดิน หรือบริเวณลานเดินด้วยกรวด เนื่องจากธรรมชาติของไก่จะต้องกินก้อนกรวดเล็กๆเพื่อใช้ในกระบวนการย่อยอาหาร และควรมีบริเวณบางส่วนเป็นพื้นดินให้ไก่คลุกดินเล่น และมีบริเวณหญ้าเกิดบ้าง เพราะไก่จะช่วยทำหน้าที่จิกกินหญ้าและกำจัดไปด้วยในตัว

ภายในเล้าไก่ ต้องทำคอนนอนให้ไก่ได้นอน ที่ยกระดับขึ้นเพื่อให้ไก่ได้เกาะยืน ระหว่างเล็มขนทำความสะอาดตัวจากโคลนและฝุ่นบนพื้นดิน คอนนอนต้องทำสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร ทำจากลำไม้ไผ่ ไม้ยูคา หรือท่อพีวีซี ไม้ที่ทำคอนนอนควรมีลักษณะกลม ไม่เป็นเหลี่ยม ซึ่งอาจทำให้ตีนไก่เป็นแผลได้ ควรออกแบบให้มีอากาศถ่ายเท กันฝนสาดได้ดี หันหน้าไปทางทิศตะวันออกที่แดดเช้าส่องถึง พื้นเล้าไก่ควรรองด้วยแกลบดิบหนา 5 เซนติเมตร โรยด้วยปูนขาวและควรเปลี่ยนทุกๆ 3 เดือนเพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค ช่วยให้ไก่เดินสบายเท้ามากขึ้นและสามารถคุ้ยกินได้ อีกทั้งยังช่วยดูดซับความชื้นจากมูลไก่ได้ดี อีกทั้งควรหมั่นล้างทำความสะอาดรางใส่อาหาร และรางน้ำทุกวัน

ในบางครั้งเราสามารถปล่อยให้ไก่ออกมาเดินเล่นในสวนได้ในเวลาที่จำกัด เพื่อให้ไก่ได้จิกกินแมลงศัตรูพืชสักวันละ 2- 4 ชั่วโมง ทั้งด้วง หนอน ตั๊กแตน และโดยเฉพาะปลวกจากเศษไม้เก่า ก่อนที่จะต้อนให้กลับไปยังที่อยู่อาศัยดังเดิม นอกจากนี้มูลไก่ยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่ต้นไม้ในสวนต้องการ โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน แม้แต่เศษเปลือกไข่ที่เหลือจากการทำอาหาร ยังสามารถนำมาบดเป็นสารผสมในดินช่วยให้ต้นไม้มีรากที่แข็งแรงขึ้นอีกด้วย

นอกจากเศษอาหารที่เหลือจากการรับประทานอาหารของเราจะนำมาเป็นอาหารให้ไก่ได้แล้ว วัชพืชหรือผลไม้ที่เน่าเสียในสวนก็เป็นอาหารชั้นดีให้ไก่ได้อีกด้วย เช่น มะละกอสุก ผลไม้สุก  โดยสามารถให้เสริมจากอาหารสำเร็จรูปหรือเศษธัญพืชที่ให้ไก่กินปกติ แต่ควรระวังไม่ให้มีเศษขยะ เศษอาหารจำพวก ก้างปลา กระดูกไก่ เป็นต้น หรือกระดาษโฟมที่อาจเป็นอันตรายหากไก่จิกกินเข้าไป นอกจากนี้การทำเล้าไก่เหนือบ่อน้ำ เมื่อไก่ถ่ายมูลลงไปในบ่อก็กลายเป็นอาหารให้ปลาในบ่อได้อีกด้วยตามหลักการพึ่งพากันในระบบนิเวศ


บริเวณรอบๆอาจปลูกต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาในช่วงกลางวัน
ยังช่วยกำบังไก่จากสายตาผู้ล่า ทำให้ไก่ไม่เครียด สามารถเจริญเติบโตได้ดี และสมุนไพรหลายชนิดนำมาปลูกในสวนสามารถนำมาผสมกับอาหารของไก่ได้ เช่น ฟ้าทะลายโจรและเหง้าขมิ้นชัน ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ใบรางจืดช่วยถอนพิษ เถาบอระเพ็ดช่วยให้สุขภาพแข็งแรง เป็นต้น

ไก่ เป็นสัตว์ที่ชอบกินอาหารเช่นเดียวกับคน ทั้งพืชและเนื้อสัตว์ การ เลี้ยงไก่ ในสถานที่เปิดโล่งกว้าง มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกจะส่งผลให้ไก่มีสุขภาพดี ได้ออกกำลังกาย สามารถออกไข่ที่อุดมไปด้วยสารอาหารและมีรสชาติอร่อย พื้นที่ 1 ตารางเมตร ควรเลี้ยงไก่ได้ไม่เกิน 4 – 5 ตัว เราสามารถปล่อยไก่ให้ออกมาเดินเล่น หาอาหาร และใช้ชีวิตอยู่ในสวนของเราได้อย่างอิสระ หากรู้จักนิสัยและธรรมชาติของไก่ค่ะ
——————————-
สนใจไก่ไข่สาว สั่งซื้อได้ที่อินบ็อกซ์เพจเฟสบุ๊ค
Fb : ฟาร์มไก่ไข่พัชรี มุกดาหาร
Tel : 098-4891089
ติดตามสาระดีๆเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ไข่ได้ที่
https://ฟาร์มไกไข่พัชรี.com
Youtube : ส่องอีสาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *